ข้อมูลโครงการ

“การพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”

ในปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) ในประเทศต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ใน พ.ศ.2561 ซึ่งมีมูลค่าสูงประมาณ 639.4 พันล้าน ดอลล่าห์สหรัฐ (The Global Wellness Tourism Economy, 2018) นักท่องเที่ยวจะนิยมการท่องเที่ยวร่วมกับการดูแลสุขภาพตัวเอง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและจะใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวประเภทอื่น ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม จากจุดแข็งที่สำคัญ คือ การให้บริการที่มีคุณภาพ มีการต้อนรับที่อบอุ่น ราคาเหมาะสม มีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ไทยและมีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาต่อยอด และสร้างนวัตกรรมการบริการสปา และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สปาธุรกิจบริการสุขภาพ


ในปีที่ผ่านมาคณะผู้วิจัยจึงได้รับการอนุมัติให้ดำเนินแผนงานวิจัย “การพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการวิจัยในปีที่ 1 คือ ผลการทดลองรูปแบบการให้บริการการนวดและการใช้ดนตรีล้านนาในกลุ่มบุคคลทั่วไป สตรีตั้งครรภ์ และเด็กทารก ได้คู่มือและเกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนา และได้ผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการสปาที่มีพืชล้านนาเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งได้หลักสูตรสำหรับอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสปาและผู้ให้บริการสปาในปีต่อไป จำนวน 3 หลักสูตรได้แก่ การนวดล้านนาสำหรับในกลุ่มบุคคลทั่วไป กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ และเด็กทารก จากผลการวิจัยครั้งนี้ยังมีความต้องการในการวิจัยอย่างต่อเนื่องในปีที่ 2 เพื่อพัฒนาต่อยอดรูปแบบสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้มีการทดลองใช้ในสถานประกอบการสปาจริง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการทั้งจากภายในและนอกประเทศ ว่าการบริการสปาล้านนามีคุณภาพอย่างแท้จริงจำเป็นจะต้องมีการให้การรับรองคุณภาพการให้บริการสปาล้านนา การสร้างมาตรฐานการให้บริการสปาแบบล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสถานประกอบการสปาให้มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ มีพื้นที่ยืนในระดับสากล เป็นการสร้างความพึงพอใจ น่าสนใจ ความดึงดูดใจแก่ผู้รับบริการมากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ว่าการให้บริการมีคุณภาพ และเกิดการกลับมาใช้บริการซ้ำ ควรมีองค์กรในการรับรองคุณภาพความเป็นสปาล้านนา สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งในการให้บริการสปาที่มีอัตลักษณ์ คือ การมีผลิตภัณฑ์ที่ในการให้บริการของตนเองที่มีอัตลักษณ์ล้านนา ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ใช้ยังไม่มีพบว่ามีการรายงานในเรื่องความปลอดภัย และความพึงพอใจของผู้รับบริการในแต่ละกลุ่มที่ใช้บริการ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สปาที่ผลิตในประเทศไทยไม่สามารถส่งออกหรือเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในวงกว้าง การดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำมันหอมระเหยจากพืชหอมของไทยที่มีคุณภาพ โดยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ทั้งด้านฤทธิ์ทางชีวภาพและความพึงพอใจของผู้บริโภค จึงจะสามารถช่วยส่งเสริมการส่งออกของผลิตภัณฑ์สปาและน้ำมันหอมระเหยไทยที่มีอัตลักษณ์ออกสู่ตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาใช้ในการให้บริการในสปาล้านนาตามรูปแบบการบริการที่ได้พัฒนา ให้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการวิจัยเพื่อพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อยอดจากปีที่ผ่านมา ได้แก่การพัฒนารูปแบบสปาล้านนา พัฒนาองค์กรที่ให้การรับรองสปาแบบล้านนา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้านนาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาตำรับพาหะนาโนที่มีน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ภูเขาเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ตำรับนาโนอิมัลชัน และตำรับตัวพาไขมันอนุภาคนาโนพร้อมทั้งประเมินคุณลักษณะของตำรับ เพื่อสามารถนำผลวิจัยไปใช้ในการให้บริการสปาล้านนาให้เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล อีกทั้งสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการให้บริการสปาในท้องถิ่น ในประเทศ และต่างประเทศได้ต่อไป และเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ