ข้อมูลโครงการ

โครงการยกระดับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวไทยจึงมุ่งเน้นการ Reposition โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปยังการต่อยอดกิจกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเดิม (Old legacy) (ณัฎฐกฤติ นิธิประภา, 2564) จากแนวคิดการต่อยอดกิจกรรมดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นศักยภาพของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ที่เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เนื่องจากธุรกิจสปามีจำนวนมากและมีชื่อเสียงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล จากรายงาน Global Wellness Economy: Country Rankings February 2022 ของ Global Wellness Institute พบว่าในปี 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกและอยู่ในอันดับที่ 9 ของ wellness economy top 10 markets in Asia-Pacific ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดต่อปีอยู่ที่ 29 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันการตลาดด้านสปาเพื่อสุขภาพแต่อย่างไรก็ตามธุรกิจสปายังไม่พบความแตกต่างของบริการและผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากกว่าการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า

ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับการบริการสปาเพื่อสุขภาพ เป็นการ Reposition ภาคการท่องเที่ยวด้านสปาเพื่อสุขภาพและมุ่งเน้นการให้บริการที่เป็นการท่องเที่ยวมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตามนโยบายการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายยกระดับการบริการสปาให้เป็นการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยการวิจัยครั้งนี้ จะดำเนินการดังนี้ 1) พัฒนาเมนูการบริการสปาเพื่อสุขภาพที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2) พัฒนาสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพสู่มาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 3) เปรียบเทียบการลดลงของการปล่อยคาร์บอน ในกระบวนการให้บริการสปาและ สถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพก่อนและหลังการพัฒนา 4) พัฒนาผลิตภัณฑ์สปาและบรรจุภัณฑ์สปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสปาเพื่อสุขภาพ เพิ่มคุณค่า เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ครบทุกมิติของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาเมนูการบริการสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  2. เพื่อพัฒนาสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพสู่มาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
    2.1 ทบทวนเกณฑ์มาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
    2.2 พัฒนาศักยภาพผู้ประเมินสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  3. เพื่อเปรียบเทียบการลดลงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการให้บริการสปา และสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพก่อนและหลังการพัฒนา
  4. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาและบรรจุภัณฑ์สปาเพื่อสุขภาพมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์