เกณฑ์การรับรอง

กรอบเกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประกอบด้วยการประเมินแนวคิดของสถานประกอบการที่สะท้อนให้เห็นเรื่องราวความเป็นล้านนาหรือล้านนาประยุกต์ หรือวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวพัน ผ่านการให้บริการครบทั้ง 5 ด้าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ด้านที่ 1 รูป: ภาพลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรม

ด้านที่ 2 รส: รสชาติสะท้อนภูมิปัญญา

ด้านที่ 3 กลิ่น: กลิ่นสะท้อนความหอมล้านนา

ด้านที่ 4 เสียง: เสียงสะท้อนธรรมชาติล้านนา

ด้านที่ 5 การสัมผัสและการบริการ: บริการสะท้อนวิถีชีวิต


ด้านที่ 1 รูป: ภาพลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สถานประกอบการสปาล้านนามีการจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมล้านนา โดยพิจารณาสถาปัตยกรรม (การตกแต่งภายนอก) สถาปัตยกรรมภายใน (การตกแต่งภายใน) และการแต่งกายของพนักงานให้บริการในสถานประกอบการที่มีความชัดเจนในแนวคิดและเรื่องราวของการออกแบบ มีขนาดและสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการใช้งาน มีบรรยากาศที่ดีและสวยงาม จากการเลือกใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ วัสดุ โครงสี แสงธรรมชาติ และเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ ที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและบริบทของชุมชน ดังรายละเอียดตัวชี้วัดต่อไปนี้

  1. รูปทรงสถาปัตยกรรมมีสัดส่วนสวยงามแสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์ 
  2. รูปทรงสถาปัตยกรรมมีจังหวะส่วนทึบและส่วนโปร่งสวยงามแสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  3. วัสดุและโครงสีสถาปัตยกรรมมีความเหมาะสม เป็นธรรมชาติ และแสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  4. โถงต้อนรับ (บริเวณต้อนรับ) มีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม และสวยงามแสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  5. พื้นที่ส่วนให้บริการมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม และสวยงามแสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  6. โถงต้อนรับ (บริเวณต้อนรับ) มีเครื่องใช้ อุปกรณ์และของตกแต่งเหมาะสม และสวยงาม แสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  7. พื้นที่ส่วนให้บริการ มีเครื่องใช้ อุปกรณ์และของตกแต่งเหมาะสม และสวยงาม แสดงออกถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  8. การจัดแสดงรูปภาพ เอกสาร และอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมหรือการนวดตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา เป็นมุมหรือพิพิธภัณฑ์
  9. เครื่องแต่งกายพนักงาน มีการออกแบบเหมาะสม สอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการ และสัมพันธ์กับองค์ประกอบด้านอื่น ๆ อย่างมีเอกภาพ
  10. สถานประกอบการมีการใช้ป้าย ภาพ อักษร หรือสัญลักษณ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์
  11. ภายนอกอาคารสถานประกอบการมีพรรณไม้และภูมิทัศน์ที่เหมาะสม สวยงาม และสอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยล้านนา/ล้านนาประยุกต์

ด้านที่ 2 รส: รสชาติสะท้อนภูมิปัญญา

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สถานประกอบการสปาล้านนามีการจัดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา โดยพิจารณาจากการนำพืชพื้นบ้านล้านนา (ภาคผนวกที่ 1) มาใช้เป็นองค์ประกอบ ผสมผสานกับกรรมวิธีที่พิถีพิถันจากภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยล้านนาดั้งเดิม ซึ่งมีตัวชี้วัดดังนี้

  1. รายการบริการด้วยอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาจากพืชพื้นบ้านล้านนาหรือรูปแบบพื้นบ้านล้านนา
  2. การให้คำแนะนำเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาจากพืชพื้นบ้านล้านนา
  3. บริการด้วยอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาจากพืชพื้นบ้านล้านนาที่มีความเหมาะสม มีคุณภาพ และปลอดภัย

ด้านที่ 3 กลิ่น: กลิ่นสะท้อนความหอมล้านนา

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบการสปาล้านนามีการจัดสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยล้านนา โดยพิจารณาจากการนำไม้หอม ดอกไม้หอมล้านนา (ภาคผนวกที่ 2) น้ำมันหอมระเหยที่ผลิตจากพืชพื้นบ้านล้านนามาใช้ในการประดับตกแต่ง หรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขัด พอกผิว ประคบ หรืออาบแช่ ซึ่งมีตัวชี้วัดดังนี้

  1. มีการปลูกหรือตกแต่งด้วยไม้หอมล้านนาในบริเวณสถานประกอบการ
  2. มีการนำดอกไม้หอมล้านนามาประดับในสถานประกอบการ เช่น การนำดอกไม้หอมลอยน้ำ
  3. มีการนำน้ำมันหอมระเหยที่ผลิตมาจากพืชพื้นบ้านล้านนา มาใช้ในการให้บริการนวด
  4. มีการนำน้ำมันพาที่ผลิตมาจากพืชพื้นบ้านล้านนา มาใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มนวด (massage oil)
  5. มีการนำพืชพื้นบ้านล้านนามาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการให้บริการ เช่น  ขัด พอกผิว ประคบ อบ แช่อาบ และแช่เท้า
  6. มีการนำองค์ความรู้พื้นบ้านล้านนามาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการจัดจำหน่าย
  7. องค์ประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดสถานที่ให้บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านที่ 4 เสียง: เสียงสะท้อนธรรมชาติล้านนา

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบการสปาล้านนามีการนำเสียงและ/หรือดนตรีมาใช้ในการเสริมบรรยากาศในขณะให้บริการ โดยพิจารณาจากเสียงและ/หรือดนตรีที่นำมาใช้สามารถสะท้อนถึงความอัตลักษณ์ล้านนาร่วมสมัย หรือลักษณะธรรมชาติของไทยล้านนา เช่น ธรรมชาติบนยอดเขา น้ำตก และต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีตัวชี้วัดดังนี้

  1. การใช้เสียงเพลงหรือเสียงธรรมชาติล้านนามีความเหมาะสมกับบริเวณพื้นที่ที่ให้บริการ และสอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการ
  2. การใช้เสียงเพลงหรือเสียงธรรมชาติล้านนามีความรู้สึกผ่อนคลาย และสอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการ
  3. การออกแบบเสียงหรือประยุกต์ใช้เสียงดนตรีหรือเสียงธรรมชาติ มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และสอดคล้องกับแนวคิดของสถานประกอบการ

ด้านที่ 5 การสัมผัสและการบริการ: บริการสะท้อนวิถีชีวิต

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สถานประกอบการสปาล้านนาการจัดให้บริการที่มีมาตรฐานความเป็นไทยล้านนาหรือไทยล้านนาประยุกต์ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย 2 เกณฑ์ ได้แก่ 1) การให้บริการทั่วไปและการต้อนรับ และ 2) การให้บริการโดยการนวด (massage) การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ (hydrotherapy) และบริการเสริมอื่น ๆ โดยมีตัวชี้วัดดังต่อไปนี้

เกณฑ์ที่ 1 การให้บริการทั่วไปและการต้อนรับ

พิจารณาการให้บริการของผู้ให้บริการที่มีการแสดงกิริยาอ่อนช้อยและเรียบร้อยในรูปแบบชาวไทยล้านนา รวมถึงสามารถสื่อสารด้วยภาษาล้านนาอันแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไทยล้านนาดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี ดังนี้

  1. ผู้ดำเนินการสปามีวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้ดำเนินการสปา และสามารถดำเนินการฝึกอบรมผู้ให้บริการได้อย่างเหมาะสม
  2. ผู้ดำเนินการสปามีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมล้านนา
  3. ผู้ดำเนินการสปามีการนำเอาศิลปวัฒนธรรมหรือเทศกาลประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยล้านนามาจัดดำเนินงานในสถานประกอบการได้อย่างเหมาะสม
  4. พนักงานต้อนรับสามารถให้การต้อนรับและบริการลูกค้าทุกคนด้วยกริยาอ่อนช้อย เรียบร้อย และพูดจาไพเราะในรูปแบบของชาวไทยล้านนา
  5. พนักงานต้อนรับสามารถในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
  6. ผู้ให้บริการผ่านการอบรมความรู้หรือหลักสูตรการนวดพื้นบ้านล้านนาหรือนวดไทยล้านนาประยุกต์จากสถาบันที่เปิดสอนในเขตภาคเหนือ
  7. ผู้ให้บริการมีการให้บริการด้วยกริยาอ่อนน้อม เอาใจใส่ และพูดจาไพเราะในรูปแบบของชาวไทยล้านนา

เกณฑ์ที่ 2 การให้บริการโดยการนวด (massage) การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ (hydrotherapy) และบริการเสริมอื่น

พิจารณาจำนวนชนิดของรายการที่จัดเตรียมไว้สำหรับบริการ รูปแบบการนวดที่แสดงถึงความเป็นไทยล้านนาที่ผสมผสานความเชื่อ ภูมิปัญญา และพิธีกรรมต่าง ๆ ในการให้บริการ และคุณภาพของการให้บริการด้วยการนวด ดังนี้

  1. รายการนวดเพื่อสุขภาพแบบไทยล้านนา เช่น นวดพื้นบ้านล้านนา นวดแบบสวนดอก นวดไทยล้านนาประยุกต์ นวดล้านนาเอ็กโซติก นวดตอกเส้น และนวดประคบ เป็นต้น อย่างน้อย 3 รายการ
  2. รายการบริการใช้น้ำเพื่อสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์ล้านนา เช่น การแช่ตัวในอ่างน้ำ (bath) การบริการแช่เท้า (foot bath) การแช่น้ำแร่หรือผลิตภัณฑ์จากน้ำพุร้อนล้านนา การอบไอน้ำ (steam) การอบซาวน่า (sauna) ด้วยสมุนไพรล้านนาเป็นต้น อย่างน้อย 3 รายการ
  3. รายการบริการเพื่อสุขภาพอื่นๆ โดยใช้ศาสตร์พื้นบ้านล้านนา เช่น การบริการผิวกาย (body treatment) การบำรุงผิวหน้า (facial treatment) การบำรุงผม (hair treatment) การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ การบริการขจัดสารพิษ (detoxification) เป็นต้น อย่างน้อย 2 รายการ
  4. มีการนำรูปแบบการนวดพื้นบ้านล้านนามาให้บริการด้วยการนวด อย่างน้อย 6 ท่า และไม่พบท่าที่มีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อส่วนต่อหรือส่วนของร่างกายแต่อย่างใด (ภาคผนวกที่ 4)
  5. น้ำหนักมือที่ลงแรงพอดี สม่ำเสมอตามรูปร่างและพื้นที่นวด และมีการวางมือและยกมือนุ่มนวล
  6. มีการผสมผสานท่านวดแนวใหม่จากท่านวดพื้นบ้านล้านนาที่มีความเหมาะสม สบาย และปลอดภัย
  7. มีการปฏิบัติ/พิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นล้านนา ภายหลังการให้บริการนวดพื้นบ้านล้านนา เช่น  การสวัสดี การขอบคุณ การไหว้ พิธีการรดน้ำล้างมือ และการบูชาไหว้ครู